วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเพณีไทย(ต่อ)

ประเพณีบุญเบิกฟ้า จังหวัดมหาสารคาม

ประเพณีบุญเบิกฟ้า จังหวัดมหาสารคาม
ประเพณีบุญเบิกฟ้า  จังหวัดมหาสารคาม
          “ประเพณีบุญเบิกฟ้า  ช่วงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ชาวนาอีสานตอบแทนผืนแผ่นดินทำกิน  โดยการใช้ปุ๋ยคอกทำจากมูลสัตว์กลับคืนสู่ผืนดินให้มีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง  อีกทั้งสายฝนแรกของปีก็กำลังจะมา  ฟ้ากำลังจะร้อง  เมื่อมาทิศใดก็จะทำนายความอุดมสมบูรณ์ในปีนั้นๆ ไปตามความเชื่อดั้งเดิม”
ชาวนาใช้ประโยชน์จากพื้นดินมายาวนาน  ตลอดระยะเวลาการเพาะปลูก  ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินได้สูญสลายไป  เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว  เมล็ดข้าวที่เติบโตจนได้สีทองล้วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้มอบให้  ซึ่งชาวนาต่างรู้และสำนึกในบุญคุณของผืนแผ่นดิน  ด้วยการคืนธาตุ  คืนอาหารเป็นการตอบแทน  อาการที่ว่าก็คือปุ๋ยนั่นเอง
เดือน ๓ เดือนมหัศจรรย์ของชาวอีสาน  นอกจากเป็นเดือนที่อุดมสมบูรณ์แล้วยังเป็นเดือนเริ่มต้นฤดูฝน  ซึ่งจะมีเสียงฟ้าร้อง  และมีความเชื่อว่าในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ นี้  เมื่อมีฟ้าร้องมาจากทิศทางใดจะเป็นสัญญาณบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของฝนในปีนั้นๆ  การทำนายดังกล่าวนับว่ามีความแม่นยำจนมีการจดบันทึกคำทำนายเป็นกลอนไว้เป็นหลักฐาน  ชื่อว่า “โสลกฝน”
ประเพณีบุญเบิกฟ้าเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘  ชาวบ้านแบก  ตำบลนาทอง  อำเภอเชียงยืน  ได้ฟื้นฟูประเพณีหาบฝุ่นปุ๋ยคอกไปใส่แปลงนาทุกครัวเรือนเพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีบำรุงดินแบบอีสานจากความร่วมมือของชุมชนปรากฏว่าผลผลิตข้าวในปีนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นเท่าตัว  ชาวบ้านจึงจัดงานประเพณีนี้เรื่อยมา  และกลายเป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่ตลอดระยะเวลา ๗ วัน ๗ คืน
เมื่อถึงกำหนดงานชาวบ้านต่างช่วยกันหาบปุ๋ยคอกไปใส่ลงในแปลงนา  ควบคู่กับพิธีบูชาพระแม่ธรณี  ตั้งเครื่องสังเวย  เหล้าไห  ไก่ต้ม  ของหวาน  กล้วย  อ้อย  ตามรูปแบบพิธีกรรมดั้งเดิม  ซึ่งนับเป็นประเพณีที่สมบูรณ์  และสะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวอีสานอย่างแท้จริง
          –  วันเวลาการจัดงาน : วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี
          –  สถานที่จัดงาน :  สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม
ประเพณีบุญเบิกฟ้า  จังหวัดมหาสารคาม

ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร

ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร
ประเพณีบุญบั้งไฟ  จังหวัดยโสธร
          “นิทานพื้นบ้านเล่าสืบต่อกันมา  ผาแดงนางไอ่  พระยาคันคาก  ล้วนกล่าวถึงการจุดบั้งไฟถวายแด่พญาแถน  เพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล  หลาบสิบปีได้สืบทอดงานประเพณีบุญบั้งไฟ  ความสวยงามของการตกแต่งขบวนที่ยิ่งใหญ่  ควันสีขาวพุ่งทะยานไปตามบั้งไฟแสนที่ขึ้นสู่ท้องฟ้า  ตามมาด้วยเสียงดังสนั่น  และเสียงลุ้นของผู้คน  สุดเร้าได้ทุกครั้งไป”
เมื่อถึงเดือน ๖ ชาวอีสานจะมีการจัดงานประเพณีที่สำคัญ  หนึ่งในฮีตสิบสอง  จากความเชื่อในการบูชาพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  พร้อมเข้าสู่การทำนาครั้งใหม่  และกล่าวกันว่าหากหมู่บ้านใด  ชุมชนไหน  มิได้จัดงานประเพณีนี้ขึ้นในปีนั้นๆ  ฝนก็จะไม่ตก  พื้นดินก็จะแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกใดๆ ได้
เมื่อถึงวันงาน  ก่อนการประกวดประชันบั้งไฟประเภทต่างๆ  จะมีขบวนแห่บั้งไฟตกแต่งด้วยสีสันที่สวยงาม  ตามมาด้วยเสียงดนตรีบรรเลงให้จังหวะในการเซิ้งบั้งไฟ  เซิ้งกระติบ  ฟ้อนขาลาย  ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน  และอีกหนึ่งสีสัน  คือ  ขบวนแห่การแต่งกายล้อเลียนบุคคล  ผู้ชายบางคนสวมใส่ชุดหญิงสาวออกอากัปกิริยาอ่อนช้อย  สร้างเสียงหัวเราะ  และความสนุกสนานให้ผู้พบเห็น
การแข่งขันบั้งไฟของยโสธรมีการแบ่งเป็นประเภทแฟนซี  บั้งไฟขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว  บรรจุดินประสิวไม่เกิน ๔ กิโลกรัม  เน้นที่ความสวยงาม  รวมทั้งลีลา  เมื่อจุดขึ้นฟ้าบางทีมอาจมีร่มหลากสีกางออก  หรือมีเสียงประกอบ  และประเภทบั้งไฟแสนซึ่งใช้แข่งขันกัน  โดยนับจากเวลาที่บั้งไฟขึ้นลอยอยู่บนท้องฟ้า  บั้งไฟของใครขึ้นนานที่สุด  สังเกตจากหางที่ตกลงสู่พื้นก็เท่ากับว่าขึ้นได้สูง  และได้รับชัยชนะในที่สุด
เมื่อถึงเวลาแข่งขัน  แต่ละทีมตระเตรียมความพร้อมก่อนจุดบั้งไฟให้ทะยานออกจากฐาน  พร้อมด้วยเสียงบั้งไฟแหวกอากาศที่แสดงถึงความเร็ว  ทิ้งควันสีขาวไปตามเส้นทางสู่ท้องฟ้า  ของใครยิ่งสูง  อยู่บนฟ้าได้นาน  ก็จะได้รับชัยชนะ  ส่วนทีมที่พ่ายแพ้  บั้งไฟระเบิด  หรือไม่ขึ้นก็ต้องถูกกระชากลากลงไปในบ่อโคลนเป็นที่สนุกสนาน  อันเป็นการสานความสามัคคีระหว่างชุมชน  และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานทุกครั้งไป
          –  วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี
          –  สถานที่จัดงาน : ณ สวนสาธารณะพญาแถน  และเขตเทศบาลเมืองยโสธร
ประเพณีบุญบั้งไฟ  จังหวัดยโสธร

ประเพณีบุญผะเหวด จังหวัดร้อยเอ็ด

ประเพณีบุญผะเหวด
ประเพณีบุญผะเหวด  จังหวัดร้อยเอ็ด
          “ประเพณีบุญผะเหวด  หรืองานบุญเดือนสี่  ภาพจำลองเรื่องราวมหาชาติชาดก  ครั้งที่พระเวสสันดรกลับเข้าเมือง  ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา  ของขบวนแห่ทั้ง ๑๓ กัณฑ์  ฟังเทศน์มหาชาติ  แห่กัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอน  แห่ข้าวพันก้อน  เทศน์สังกาด  บุญใหญ่ที่สร้างความสุขสนุกสนานแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วกัน”
จังหวัดร้อยเอ็ด  ได้เริ่มฟื้นฟูงานประเพณีบุญผะเหวดขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔  ซึ่งได้มีการกำหนดจัดงานในวันเสาร์และวันอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคม ณ บึงผลาญชัย  และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  เริ่มตันวันศุกร์ด้วยการแห่พระอุปคุต  วันเสาร์  ขบวนแห่ ๑๓ กัณฑ์  และวันอาทิตย์  ฟังเทศน์มหาชาติและแห่กัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอน  ขบวนต่างๆ ล้านเกิดจากความร่วมใจของชาวบ้าน  ที่แสดงออกถึงจตุปัจจัยที่ร่วมกัน  ถวายแด่พระที่กำลังเทศน์อยู่ในขณะนั้น  และเจาะจงถวายแด่พระที่ศรัทธาซึ่งเทศน์ในวันนั้น
เข้าสู่งานประเพณี  ชาวร้อยเอ็ดจะอัญเชิญพระอุปคุตแห่รอบเมือง  เพื่อปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดภัยพิบัติและให้ทำมาค้าขึ้น  จากนั้นเริ่มพิธี “มหามงคลพุทธมนต์  พระอุปคุตเสริมบารมี”  เข้าสู่วันที่สอง  ช่วงเช้าแจกสัตสดกมหาทาน  บริจาคสิ่งของแด่ผู้ยากไร้  ตามด้วยไฮไลท์ของงานคือ  ขบวนแห่ตำนานพระเวสสันดร ๑๓ กัณฑ์  ภาพขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองที่สมจริง  งดงามด้วยสีสันและท่วงท่าการร่ายรำ  พระเวสสันดรทรงช้างมาพร้อมด้วยพระนางมัทรี  ห้อมล้อมด้วยเหล่าทหารที่ยิ่งใหญ่
ถึงวันสุดท้าย  พิธีแห่ข้าวพันก้อน (ข้าวเหนียวปั้นเล็กๆ  จำนวน ๑,๐๐๐ ก้อน)  และเทศน์สังกาด (เป็นการพรรณนาอายุกาลของพระพุทธศาสนา  เริ่มแต่ต้นจนถึงอันตรธาน)  ร่วมทำบุญตักบาตร  เคล้าด้วยเสียงของการเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ตลอดทั้งวัน  ช่วงสายๆ ขบวนแห่ถวายต้นเงิน  หรือต้นกัณฑ์จอบ  กัณฑ์หลอนของพุทธศาสนิกชนนำมาถวายพระภิกษุภายในบึงผลาญชัย  นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการจัดประกวดธงผะเหวด  การประกวดภาพวาด  ภาพถ่ายประเพณีบุญผะเหวด  การแข่งกินขนมจีน  สร้างความสนุกสนานได้ตลอดงาน
-  วันเวลาการจัดงาน : ช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี (บุญเดือนสี่)
-  สถานที่จัดงาน : บึงผลาญชัย  สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  อ.เมืองร้อยเอ็ด
ประเพณีบุญผะเหวด

ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ

ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ
ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์
“ภูเขาตั้งตระหง่านกลางเมือง แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน รวมเป็นเจ้าพระยาสายใหญ่พาดผ่าน ชุมชนภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ได้เกิดการรวมตัวของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล ที่ตั้งรกราก ลงหลักพักอาศัย พร้อมนำวิถี วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมมาปฏิบัติ ชวนให้เข้าไปสู่ห้วงมนต์เสน่ห์สีสันแห่งงาน ตรุษจีนปากน้ำโพ”
แหล่งชุมชนชาวจีนเก่าแก่ที่สานต่อวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ซึ่งยังคงเคารพนับถือ เจ้าพ่อเทพารักษ์ – เจ้าพ่อกวนอู – เจ้าแม่ทับทิม – เจ้าแม่สวรรค์ โดยตั้งศาลขึ้น ๒ ศาล คือ ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกของตลาดปากน้ำโพ และศาลเจ้าแม่หน้าผา ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางเหนือของตลาดปากน้ำโพ
จากอดีตนั้นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ตลาดปากน้ำโพได้เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดผู้คนล้มตาย ชาวจีนปากน้ำโพได้นำเอา “กระดาษฮู้” (กระดาษยันต์) ของศาลเจ้ามาเผา ได้เป็นเถ้าจึงนำมาผสมน้ำดื่มจนหายจากโรคร้าย และเป็นที่เลื่องลือในความศักดิ์สิทธ์ ตั้งแต่นั้นมา ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการแห่องค์เจ้าพ่อ – เจ้าแม่ไปรอบเมือง พร้อมด้วยขบวนการแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ สิงโต เอ็งกอ ล่อโก้ว มังกรทอง องค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม รวมทั้งการแสดง แสง สี เสียง บอกเล่าตำนานความเชื่อของชาวปากน้ำโพอย่างยิ่งใหญ่
ชาวนครสวรรค์ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ ต่างพร้อมใจกันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีอันยิ่งใหญ่ เด็กๆ ต่างเข้าร่วมสมาคม ชมรมการแสดง ฝึกซ้อมท่วงท่าร่ายรำให้พร้อมเพรียงสำหรับการแสดง ตลอดสองฝั่งถนนในตัวเมือง ชาวไทยเชื้อสายจีนต่างตั้งเครื่องเซ่นไหว้ บูชาบรรพบุรุษ คณะเอ็งกอกระชับไม้กระบองสองข้างไว้แน่น ทุกก้าว ทุกจังหวะดูเข้มแข็ง เด็กหญิงตัวเล็กมือถือถ้วยและตะเกียบไว้ในมือน้อยๆ เสียงกระทบถ้วยช้าๆ สอดรับดนตรีเพลงจีนเบาๆ เหล่าสิงโต เสือ เคลื่อนไหว เล่นสนุก ปีนป่ายบนเสาดอกเหมยด้วยความสง่างาม
ประเพณีตรุษจีนปากน้ำโพ
เสียงประทัดจีนดังก้องกังวานเมื่อมังกรทองวาดลวดลายพลิ้วไหวดั่งล่องลอย จากความร่วมแรงของคนนับร้อยที่ต้องผลัดเปลี่ยนเวียนตำแหน่ง เพื่อให้มังกรทองโบยบินราวมีชีวิต ไปจนถึงยามเย็นแสงสีสันของโคมไฟที่ประดับอยู่ทั่วเมือง คณะงิ้วสื่อสำเนียงออกลีลาชวนติดตามเรื่องราว ปิดท้ายค่ำคืนด้วยการแสดงทางวัฒนธรรมที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณหาดทรายริมต้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามารถถ่ายทอดความงดงามของวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายจีนได้อย่างสมบูรณ์แบบ

– วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์
– สถานที่จัดงาน : ขบวนแห่รอบตลาดปากน้ำโพธิ์และหาดทรายริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ประเพณีแข่งเรือยาว

ประเพณีแข่งเรือยาว
ประเพณีไทย:ประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน
“ความสง่างาม และน่าเกรงขามของหัวเรือพญานาค คือเอกลักษณ์ของเรือยาวจังหวัดน่าน ทีมฝีพายจากทั่วทุกสารทิศต่างช่วงชิงความเป็นหนึ่ง เจ้าเรือพายแห่งสายน้ำน่าน เสียงเชียร์ดังสนั่นท้องน้ำ เสียงนกหวีดบอกสัญญาณ เสียงทุ้มต่ำของกลองเร่งเร้าจังหวะ สร้างความเร้าใจได้ตลอดการแข่งขัน”
สายน้ำน่าน บริเวณสะพานพัฒนาภาคเหนือช่วงฤดูน้ำหลาก เรือพายหัวพญานาคเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครแห่งเมืองน่านหลายสิบลำจากทั่วทุกคุ้มวัดต่างมาพร้อมกันเพื่อชิงชัยเจ้าแห่งสายน้ำน่าน ในงานบุญใหญ่ทอดถวายกฐินพระราชทานที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ที่มาของประเพณีเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ
เมื่อเจ้าผู้ครองนครน่านองค์หนึ่ง ระดมสล่านับร้อยลำใหญ่ ๒ ลำ ใช้เวลาสร้างกว่า ๒ ปี เสร็จแล้วมีพิธีบวงสรวงเทพยดาประจำไม้ตะเคียน และบายศรีสู่ขวัญอันเชิญเรือทั้งสองลำลงสู่แม่น้ำน่าน โดยตั้งชื่อเรือลำแรกว่า “เรือท้ายหล้า” และเรืออีกลำชื่อว่า “เรือท้ายทอง” ต่อมาจึงประกาศให้ชาวบ้านใช้เรือทั้งสองลำเป็นแม่แบบในการสร้างเรือ เพื่อนำมาแข่งขัน และกำหนดให้มีการจัดการแข่งขันขึ้นทุกครั้งที่มีงาน “ตานก๋วยสลาก” (ถวายทานสลากภัต) ของทุกปี
เริ่มต้นความงดงามด้วยริ้วขบวนเรือที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้เป็นลวดลายที่งดงาม ก่อขึ้นเป็นรูปร่างของสัญลักษณ์เมืองน่าน วัดภูมินทร์ก็ดี พระธาตุแช่แห้งก็ดี ค่อยๆ เคลื่อนไหลไปตามท้องน้ำผ่านสายตาผู้ชมนับหมื่น ตามด้วยขบวนเรือแข่งกระจายทั่วท้องน้ำ เมื่อทุกทีมพร้อม การจับสายประกบคู่เป็นที่เรียบร้อย เรือแข่งทั้งร่องน้ำซ้าย ร่องน้ำขวา เข้าประจำที่ สัญญาณปล่อยตัวมาพร้อมเสียงเชียร์ เสียงดนตรี และเสียงพากย์สุดเร้าใจ ริมฝั่งแบ่งโซนกองเชียร์ของแต่ละทีมแต่งกายด้วยสีสันสดใส ต่างร้องรำไปตามจังหวะ สอดประสานกับการจ้วงพายของฝีพาย จนเมื่อถึงเส้นชัย ใครจะแพ้ใครจะชนะไม่สำคัญเท่าภาพของความสนุกสนาน ความสามัคคี
ประเพณีแข่งเรือยาว
การแข่งขันไม่ได้เน้นหนักในด้านการแพ้หรือชนะ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ความสนุกสนาน ความสามัคคี รอยยิ้มของผู้คน รวมทั้งน้ำใจนักกีฬาที่ต่างมอบให้กันโดยปราศจากผลประโยชน์ใดๆ และเรื่องราวของการแข่งขันเรือยาวจังหวัดน่านนั้น มากไปด้วยมนต์ขลังที่ยังคงเล่าผ่านเรือขุนน่าน ต้นแบบเรือดั้งเดิมที่ขุดจากไม้ตะเคียนทองทั้งต้น ยาว ๑๒ วา ๓ ศอก ทั้งกาบโกลนเรือ และหัว หางนาคราช ตกแต่งลวดลายตลอดรำเรือ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยโลดแล่นประกาศศักดาคว้าชัยชนะจนได้รับถ้วยพระราชทานจากในหลวงถึง ๓ ปีซ้อน ได้กลายเป็นตำนานเล่าขานถึงความยิ่งใหญ่ และถ่ายทอดเอกลักษณ์ของเรือยาวแห่งเมืองน่านให้เป็นที่รู้จักสืบไป

– วันเวลาจัดงาน : ช่วงงานตานก๋วยสลาก ประมาณเดือนตุลาคม
- สถานที่จัดงาน : เชิงสะพานพัฒนาภาคเหนือ

ประเพณีลอยไหลประทีปพันดวง

ประเพณีลอยไหลประทีปพันดวง

ด้วยสภาพท้องน้ำที่มีสันทรายเป็นระยะ ทำให้กระทงที่นำมาลอยไหลไปในทิศทางเดียวกันและกลายเป็นแนวคิดในการนำกระทงมาลอยเป็นสาย จนกระทั่งเริ่มมีการแข่งขันประกวดประชันอย่างจริงจังขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อถึงกำหนดเริ่มงานทุกชุมชนได้เตรียมตัวมาพร้อมเพื่อการแข่งขันขบวนแห่ที่สวยงาม เสียงดนตรีสุดคึกคัก ชาวบ้านต่างร่ายรำมาจนกระทั่งถึงริมฝั่งแม่น้ำปิง เริ่มต้นขอขมาต่อพระแม่คงคา อธิษฐานบูชาพระพุทธเจ้า พร้อมปล่อยทุกข์โศกไปกับแพผ้าป่าน้ำ
ประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีปพันดวง จังหวัดตาก
“ลอยกระทงสาย ประเพณีไทยที่เกิดจากความร่วมมือ และความสามัคคีของคนในชุมชน ตระเตรียมแพผ้าป่า และกระทงสายพร้อมสรรพ จับสลากว่าใครจะลอยก่อนหลัง เมื่อทุกขั้นตอนพร้อมเรียบร้อย คนหนึ่งนำขี้ไต้ใส่กะลา อีกคนจุดไฟ อีกหนึ่งค่อยๆ กะจังหวะปล่อยเป็นสายไหลเรียงไปตามกระแสน้ำ”
การหลอมรวมหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้าน ศิลปวัฒนธรรม ทั้ง ๓ สิ่งได้ทำให้เกิดงานประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างด้วยรูปแบบ อันมาพร้อมรายละเอียดแห่งความงดงาม จุดเริ่มต้นที่ชาวบ้านนำวัตถุดิบในท้องถิ่น คือ กะลามะพร้าวที่ผ่านการขูดเนื้อไปทำเมี่ยง ของว่างที่คนจังหวัดตากมักจะรับประทานหลังอาหาร เหลือเจ้ากะลาที่วางทิ้งไว้ก็ดูไร้ประโยชน์ ลองนำมาทำเป็นกระทง ตรงกลางใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกา แล้วนำเทียนขี้ผึ้งที่พระสงฆ์ใช้ช่วงจำพรรษา มาหล่อใส่ในกะลา เพียงเท่านี้ก็พร้อมนำไปลอย โดยชาวบ้านนั้นเชื่อว่าเทียนขี้ผึ้งเหล่านี้ นับเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ช่วยเสริมสร้างสิริมงคลแก่ผู้นำไปลอยได้นั่นเอง
ประเพณีลอยไหลประทีปพันดวง
- วันเวลาการจัดงาน : ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
- สถานที่จัดงาน : แม่น้ำปิง บริเวณริมสายธารลานกระทงสาย

ประเพณีข้าวสาก

ประเพณีข้าวสาก
งานบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก (สลากภัต) คือ การทำบุญอุทิศส่วนกุสลไปให้กับเปรต ซึ่งงานบุญข้าวสากกับงานบุญข้าวประดับดินในเดือน ๙ จะมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเปรตและผู้ล่วงลับไปแล้ว
มูลเหตุของการเกิดงานบุญข้าวสาก สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล มีชายหนุ่มผู้หนึ่งอาศัยอยู่กับมารดา ส่วนบิดาเสียชีวิตแล้ว เมื่อถึงวัยที่ต้องแต่งงาน มารดาจึงหาผู้หญิงมาให้ชายหนุ่มจึงแต่งงานกับหญิงสาวผู้นั้น แต่อยู่กันมานานก้ไม่มีบุตรสักที มารดาจึงหาภารยาให้ใหม่ พออยู่กินมาไม่นานภารยาน้อยก็ตั้งครรภ์ ภารยาหลวงเกิดอิจฉาจึงคิดวางแผนบอกกับภรรนาน้อยว่าถ้าตั้งครรภ์ภรรยาน้อยต้องบอกนางเป็นคนแรก
เมื่อภรรยาน้อยตั้งครรภ์ นางจึงบอกกับภรรยาหลวง ภรรยาหลวงจึงนำยาที่ทำให้แท้งให้ภรรยาน้อยกิน พอภรรยาน้อยตั้งครรภ์ครั้งที่สองภรรยาหลวงก็นำยาแท้งให้กินอีกพอครั้งที่สามภรรยาน้อยไม่บอกภรรยาหลวงแต่หนีไปอาศัยอยู่กับญาติ ภรรยาหลวงจึงตามไปแล้วให้ยากินอีก แต่คราวนี้ไม่แท้งเพราะครรภ์แก่แล้ว แต่ลูกในท้องนอนขวางทำให้บีบหัวใจจนตาย ก่อนที่ภรรยาน้อยจะตายนางได้จองเวรกับภรรยาหลวงว่า ชาติหน้าของให้นางได้เกิดเป็นยักษิณีและให้ได้กินภรรยาหลวงและลูกของภรรยาหลวง
ประเพณีข้าวสาก
ชาติต่อมาภรรยาน้อยได้เกิดเป็นแมว ส่วนภรรยาหลวงถูกสามีฆ่าตายแล้วเกิดเป็นไก่ และอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับแมว ครั้นไก่ถูกออกไข่มาก็ถูกแมวกินถึง 3 ครั้ง ก่อนแม่ไก่ตาย แม่ไก่พูดอาฆาตแมวว่า ในชาติหน้าขอให้ได้กินแม่แมวและลูกแมว
ชาติต่อมาแม่ไก่ได้เกิดเป็นเสือเหลือง แมวไปเกิดเป็นนางเนื้อ พอนางเนื้อตกลูก เสือเหลืองก็ไปกินลูกนางถึง 3 ครั้ง ก่อนนางเนื้อตายได้ผูกอาฆาตกับเสือเหลืองว่า ชาติหน้าขอให้ได้กินเสือเหลืองและลูกเสือเหลือง
ชาติต่อมานางเนื้อไได้เกิดเป็นยักษิณี เสือเกิดเ็นนางกุลธิดาในเมืองสาวัตถึ ครั้นเจริญเติบโตก็แต่งงานกับชายหนุ่มพอมีลูกก็ถูกนางยักษิณีโขมยลูกไปกินถึง 2 ครั้ง ส่วนครั้งที่ 3 นางกุลธิดาและสามีพร้อมลูกวิ่งหนีไปยังวัดเชตวันมหาวิหารซึ้งขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาอยู่ สองมีภรรยาจึงเข้าไปหาพระพุทธเจ้า ส่วนนางยักษิณีอยู่หน้าวัด พระพุทธเจ้าจึงให้พระอานนท์ไปเรียกนางยักษิณีเข้ามาและเล่าภูมิหลังของทั้งสามให้ฟัง พระพุทธเจ้าทรงให้นางกุลธิดานำนางยักษิณีไปเลี้ยง นางกุลธิดาจึงให้นางยักษิณีไปอยู่ท้ายทุ้งนา นางยักษิณีเป็นผู้ยั่งรู้ฟ้าฝน ปีใดฝนจะแล้งหรือน้ำท่วมนางก็บอกกับนางกุลธิดาทุกครั้ง ทำให้ข้าวในนาของนางกุลธิดาได้ผลดี ต่อมาชาวบ้านรู้ข่าวก็พร้อมใจกันไปถามเกณฑ์ขอฝนฟ้า ทำใช้ชาวนาของชาวบ้านได้ผลดี ชาวบ้านจึงนำอาหารไปให้กับยักษิณีเป็นการตอบแทน
“สำหรับบุญข้าวสากในปัจจุบัน จะกระทำในวันขึ้น 15 ค้ำ เดือน 10 โดยชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานใส่บาตรพอถึงตอนเพลชาวบ้านจะจัดสำรับกับข้าวและเครื่องไทยทาน นำไปถวายพระโดยเขียนสลากบอกชื่อเจ้าของสำหรับแล้วใส่ลงบาตร และนิมนต์ให้พระสงฆ์และสามเณรรูปใดจับสลากเป็นชื่อของใครคนนั้นก็จะนำสำรับกับข้าวไปถวายพระสงฆ์หรือสามเณรรูปนั้น”

ประเพณีสงกรานต์ล้านนา

ประเพณีสงกรานต์ล้านนา
ประเพณีสงกรานต์ ชาวล้านนาจะเรียกว่า “ปเวณีปีใหม่ หรือ ปาเวณีปีใหม่” อ่านว่า ป๋า-เว-นี-ปี๋-ใหม่ เทศกาลสงกรานต์ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของชาวล้านนาเดิมนั้น จะถือเอาวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็นวันมหาสงกรานต์ หรือวันสังกรานต์ล่อง (อ่านว่า สังขานล่อง) ซึ่งจะไม่ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ตามประกาศของทางราชการ แต่ปัจจุบันจะยึดตามประกาศของทางราชการซึ่งมักจะตรงกับเดือน ๗ เหนือ หรือเดือนเมษายน ประเพณีสงกรานต์จะจัดขึ้นอย่างน้อย ๓-๕ วัน คือ
“วันแรก วันสงกรานต์ล่อง เป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสุดราศีมีนและย่างเข้าสู่ราศีเมษ ชาวล้านนามีความเชื่อว่า ในตอนเช้ามืดจะมีปู่สังกรานต์หรือย่าสังกรานต์สวมใส่เสื้อผ้าสีแดง ล่องแพไปตามลำน้ำ และปู่สังกรานต์หรือย่าสังกรานต์จะนำสิ่งชั่วร้ายมาด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไป ชาวบ้านจึงทำการยิงปืนหรือจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายนั้น อีกทั้งชาวบ้านจะปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนให้สะอาด ซักเสื้อผ้าและแต่งกายด้วยเสื้อผ้าตัวใหม่ ส่วนกษัตริย์หรือผู้ครองนครล้านนา จะทำการสรงน้ำตามทิศที่โหรหลวงคำนวณไว้และจะลงไปลอยเคราะห์ในแม่น้ำ”
“วันที่สอง วันเนาหรือวันเน่า สำหรับวันนี้ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า ห้ามผู้ใดทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้ามีการด่ากัน ปากของผู้ด่านั้นจะเน่า สำหรับพิธีกรรมของวันเนานี้ชาวบ้านจะเตรียมซื้อสิ่งของและอาหารสำหรับไปทำบุญในวันพญาวัน ส่วนตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด วันเนานี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วันดา” คือวันที่มีการเตรียมสิ่งของเพื่อไปทำบุญ”
“วันที่สาม วันพญาวัน เป็นวันเริ่มศักราชใหม่ โดยในตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร อีกทั้งยังมีการทำทานขันข้าว (อ่านว่า ตาน-ขัน-เข้า) เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว หรือบางคนอาจจะนำอาหารคาวหวานไปมอบให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้ที่ตนเคารพ เรียกว่า “ทานขันเข้าคนเถ้าคนแก่”
ประเพณีสงกรานต์ล้านนา


ประเพณีชักพระ

ประเพณีชักพระ
ประเพณีชักพระหรือลากพระเป็นประเพณีของชาวภาคใต้ โดยจะปฏิบัติกันในช่วงออกพรรษา (วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑) ซึ่งมีความเชื่อว่า ครั้งสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสร็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา พอถึงช่วงออกพรรษา พระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ทำให้ชาวบ้านมีความปราบปลื้มมาก จึงอันเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกและแห่ไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์ ครั้นเลยสมัยพุทธกาลชาวบ้านจึงนำพระพุทธรูปมาแห่สมมุติแทนพระพุทธองค์
ประเพณีชักพระหรือลากพระมีผู้สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในประเทศอินเดียตามลัทธิของศาสนาพราหมณ์ที่นิยมนำเทวรูปออกแห่ในโอกาสต่างๆ ต่อมาชาวพุทธได้นำมาดัดแปลงให้ตรงกับศาสนาพุทธ ประเพณีชักพระหรือลากพระได้ถ่ายทอดมาถึงประเทศไทยภาคใต้ได้รับและนำไปปฏิบัติจนกลายเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยชาวใต้มีความเชื่อว่าการลากพระจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือเป็นการขอฝน เพราะผู้ประกอบพิธีส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม
“การชักพระหรือลากพระของชาวใต้มี ๒ ประเภท คือ ลากพระทางบกกับลากพระทางน้ำ”
การลากพระทางบก คือ การอันเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐานบนนมพระ (คือยานพาหนะที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปในการลากพระทางบก) หรือบุษบกแล้วแห่ไปยังจุดหมาย การลากพระทางบกเหมาะกับวัดที่อยู่ห่างไกลแม่น้ำลำคลอง
การลากพระทางน้ำคือ การอันเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ขึ้นประดิษฐานบนเรือพระแล้วแห่ไปยังจุดหมาย การลากพระทางน้ำเหมาะกับวัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำ
ในวันชักพระหรือลากพระจะมีการตักบาตรหน้าล้อ โดยชาวบ้านจะเตรียมอาหารมาใส่บาตร ซึ่งบาตรนั้นจะเตรียมไว้หน้าพระลาก การตักบาตรหน้านมพระเรียกว่า “บาตรหน้าล้อ” หลังจากตักบาตรเสร็จแล้วจะอันเชิญพระลากประดิษฐานบนบุษบก และเมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะนำขนมต้ม (ขนมชนิดหนึ่งทำด้วยข้าวเหนียวและห่อด้วยใบพ้อ) มาใส่บาตรและแขวนไว้หน้านมพระ และเมื่อมีการลากพระถึงหน้าบ้านใครคนในบ้านนั้นก็จะนำขนมต้มออกมาใส่บาตร
“แต่การลากพระทางน้ำ เรือพายของชาวบ้านจะไม่สามารถเข้าใกล้เรือพระได้ ชาวบ้านที่ต้องการทำบุญด้วยขนมต้ม จะใช้วิธีปาต้มหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ซัดต้ม” ”
เมื่อเรือพระทุกลำมาถึง ณ จุดหมายแล้ว จะมีการประกวดเรือพระ โดยแยกออกเป็น ๒ ประเภทคือ เรือพระบกและเรือพระน้ำ พอถึงเวลาบ่ายหรือเย็นก็จะลากเรือพระกลับวัด แต่ในปัจจุบันเรือพระจะจอดไว้ประมาณ ๓-๕ วันถึงจะลากกลับวัด เนื่องจากว่ามีประชาชนร่วมกันทำบุญเป็นจำนวนมาก
ประเพณีการลากพระนิยมทำกันแทบทุกจังหวัดของภาคใต้ แต่การลากพระที่มีชื่อเสียงก็เช่น ที่อำเภอเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นต้น
ที่มา : ฐิติรัฐน์ & คามิน ทีมหนังสือรวมเรื่องประเพณีไทย 4 ภาค
ประเพณีชักพระ

ประเพณีตักบาตรเทโว

ประเพณีตักบาตรเทโว
ประเพณีตักบาตรเทโว จะจัดขึ้นในช่วงออกพรรษาของหลายๆ จังหวัดในภาคกลาง เช่น อุทัยธานี สระบุรี เป็นต้น
ประเพณีของไทย ตักบาตรเทโว ได้มีกล่าวไว้ในตำนานวันเทโวโรหณสูตรเรื่องการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้าหลังจากที่เสด็จโปรดพระมารดาในช่วงเข้าพรรษาเป็นเวลา ๓ เดือน ครั้นครบกำหนด ๓ เดือน ตรงกับวันปวารณาออกพรรษา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทางบันไดสวรรค์ที่เทวดาได้นิรมิตบันไดขึ้นมา ๓ บันได คือ บันไดทองอยู่ทางด้านขวาสำหรับพวกเทพยดาลง บันไดแก้วอยู่ตรงกลางสำหรับพระพุทธเจ้าเสด็จลง และบันไดเงินอยู่ทางด้านซ้ายสำหรับพวกพรหมลง ได้มีทั้งเทพบริวาร เทวดา รวมทั้งมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหมดได้รอลงเพื่อส่งเสด็จ แต่ก่อนที่พระองค์จะเสด็จลงนั้น พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์บันดาลให้โลกทั้ง ๓ โลก คือ เทวโลก มนุษย์โลก และสัตว์นรกมองเห็นกันหมด เรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” แล้วทรงแสดงโปรดสัตว์ทั้ง ๓ โลก จึงทำให้มีผู้บรรลุมรรคผลนับไม่ถ้วน ฝ่ายชาวเมืองในโลกมนุษย์ต่างดีใจและเฝ้ารอพระพุทธองค์ ต่างตระเตรียมอาหารมารอใส่บาตร แต่ด้วยมีคนเป็นจำนวนมากทำให้หลายๆ คนใส่บาตรกับพระพุทธองค์ไม่ถึง จึงต้องใช้วิธีโยนอาหารใส่บาตร ซึ่งในปัจจุบันคือการทำข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรนั่นเอง
จากตำนานดังกล่าวจึงทำให้เกิดประเพณีตักบาตรเทโวโรหณขึ้น โดยเฉพาะที่วัดสังกัสรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี จะมีประชาชนทั้งในจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดใกล้เคียงมารอใส่บาตรกันเป็นจำนวนมาก โดยพระสงฆ์จากวัดต่างๆ จะเดินลงมาทางบันได และมีประชาชนยืนรอใส่บาตรกันตามสองข้างทางด้วยอาหารคาวหวานแล้วยังมีการใส่บาตรข้าวต้มลูกโยนด้วย เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ก็เป็นเสร็จพิธี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น