ประเพณีวันออกพรรษา น่ารู้
หากพูดถึงวันออกพรรษานั้นแล้ว หลายท่านคงนึกถึง การทำบุญตักบาตร ฟังธรรมเทศนา ที่วัดใกล้บ้าน และก็คงนึกถึงการตักบาตรเทโว ที่ทุกคนรู้จักในชื่อ วันเทโวโรหณะ หรือรู้จักกันในวันพระพุทธเจ้าเปิดโลก มีประวัติ ดังนี้คือในพรรษาที่ 7 นับแต่ปีที่ตรัสรู้ พระพุทธองค์จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาอยู่หนึ่งพรรษา หรือ 3เดือน ครั้นถึงวันปวารณาออกพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธองค์จึงเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ทางบันไดทิพย์ ทั้ง 3 ได้แก่ บันไดเงิน และ บันไดทอง และ บันไดแก้ว ซึ่งสักกเทวราช หรือพระอินทร์ ให้พระวิษณุกรรมเนรมิตทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่โลกมนุษย์ ที่ ประตูเมืองสังกัสนคร บรรดาพุทธศาสนิกชนพอทราบข่าวต่างก็มารอรับตักบาตรภัตตาหารกันอย่างเนืองแน่นชาวพุทธจึงยึดถือปรากฎการณ์ ในวัน แรม1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ให้เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ เรียก “วันเทโวโรหณะ” และ วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก เพราะวันนั้นโลกทั้ง 3 คือ สวรรค์ มนุษย์ และ บาดาล หรือนรกภูมิ ต่างสามารถแลเห็นกันได้ตลอดทั้ง 3 โลก โดยในวันออกพรรษานั้นมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ในอดีตกาลดังที่จะกล่าวครับ ครั้นในอดีตที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วถึงวันเข้าพรรษาและพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตุวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี เมื่อมีพระภิกษุมาจำพรรษาอยู่มากมายพระภิกษุเหล่านั้นจึงเกรงจะเกิดการขัดแย้งกันจนอยู่ไม่สุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกฏกติกาว่าจะไม่พูดจากัน (มูควัตร) เมื่อถึงวันออกพรรษาพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วปวารณากันในสามลักษณะ คือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี”
และได้มีหลักธรรมที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา มีหลักธรรมสำคัญที่ควรนำไปปฏิบัติ คือ ปวารณา การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ ในการปวารณานี้อาจแบ่งบุคคลออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
ผู้ว่ากล่าวตักเตือน จะต้องเป็นผู้มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน เรียกว่ามีเมตตาทางกาย ทางวาจา และทางใจ พร้อมมูล
ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือน ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ดีใจดังมีผู้มาบอกขุมทรัพย์ให้ การปวารณา จึงเป็นคุณธรรมสร้างความสมัครสมานสามัคคีและดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์ การปวารณา แม้จะเป็นสังฆกรรมของสงฆ์ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมชาวบ้าน เช่น การปวารณากันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ในสถานศึกษา ในสถานที่ทำงาน พนักงานในห้างร้าน บริษัทและหน่วยงานราชการ เป็นต้น
ในส่วนของความสำคัญในวันออกพรรษากล่าวได้ว่า ในวันออกพรรษา เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนา ด้วยเหตุผลดังนี้ หลังจากวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาตให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้และ เมื่อออกพรรษาแล้วพระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรมและประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษาไปเผยแผ่แก่ประชาชนซึ่งในวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนเรื่องความประพฤติของตนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเคารพนับถือและความสามัคคีกันและพุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่างไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าว ตักเตือนตนเองเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนและสร้างสรรค์สังคมต่อไป
กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัวในวันออกพรรษา ในวันออกพรรษานั้น แต่ละครอบครัวก็ช่วย ทำความสะอาดบ้าน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งที่บูชาประจำบ้าน ศึกษาเอกสารและสนทนาเกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษา รวมทั้งหลักธรรม การปวารณาและแนวทางปฏิบัติในครอบครัวสมาชิกในครอบครัว เพื่อจะได้ปรึกษา หารือ หาแนวทางในการป้องกันการแก้ปัญหา โดยใช้หลักธรรม คือ ปวารณา ในวันออกพรรษา ครอบครัวจะได้มีโอกาสไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทานปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรมเจริญภาวนา ในกรณีที่เป็นวันหยุดเนื่องในวันออกพรรษา
กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงานในวันออกพรรษา จะได้มีการทำความสะอาดบริเวณที่ทำงาน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษา รวมทั้งหลักธรรมเรื่อง ปวารณาและแนวทางปฏิบัติในสถานที่ทำงานและ จัดให้มีการบรรยายธรรมและสนทนาธรรมร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต โดยหัวหน้าหน่วยงานให้โอกาสผู้ร่วมงานไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยม ในกรณีที่เป็นวันหยุดมีการจัดทำป้ายนิเทศเกี่ยวกับอุดมการณ์ในการทำงานโดยมีเป้าหมายจะละเว้นการกระทำชั่วในเรื่องใดๆ และกิจกรรมอื่นที่เหมาะสม
กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษาในวันออกพรรษา มีการทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร จัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา ครูและนักเรียนร่วมกันศึกษาถึงความสำคัญของวันออกพรรษา รวมทั้งหลักธรรม เรื่องปวารณาและแนวทางปฏิบัติในสถานศึกษา มีการให้นักเรียนจัดทำป้ายนิเทศ หรือจัดนิทรรศการ ประกวดเรียงความ ทำสมุดภาพ ตอบปัญหาธรรม บรรยายธรรม อภิปรายธรรม จัดทำรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีกับพฤติกรรมที่ไม่ดี และวางแผนพัฒนาพฤติกรรมไม่ดีให้น้อยลง มีการประกาศเกียรติคุณนักเรียนที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีและ ครูพานักเรียนไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่วัด บำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม เจริญภาวนา ในกรณีที่เป็นวันหยุด และกิจกรรมอื่นที่เหมาะสม
วัตถุประสงค์ของกิจกรรมวันออกพรรษา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษารวมทั้งหลักธรรม เรื่อง ปวารณาและแนวทางปฏิบัติและเพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีทักษะในการคิดและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในวันออกพรรษา และสามารถเลือกสรรหลักธรรม คือปวารณา ไปใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาตนและสังคม พุทธศาสนิกชนจะเกิดเจตคติที่ดีต่อวันออกพรรษา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคือ ปวารณา เกิดศรัทธา ซาบซึ้งและตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาและสุดท้าย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีและปฏิบัติตนตามหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนได้อย่างถูกต้อง
ประเพณีวันออกพรรษาในแต่ละภาค ส่วนใหญ่แล้วในวันออกพรรษาของแต่ละภาคจะไม่เหมือนกันครับเราจะมาทำความรู้จักกับการทำบุญวันออกพรรษาในแต่ละภาคกันดังนี้ครับ
ภาคเหนือ นั้นจะเน้นในเรื่องของการปล่อยโคมลอยซึ่ง ชาวบ้านหรือคนพื้นเมืองเหนือจะนิยมเล่น หรือมีการแข่งขันกันทำโคมในเทศกาลงานประเพณีสำคัญ ๆ ของหมู่บ้านของตน อาทิ งานทำบุญวันเข้าพรรษา งานทำบุญวันออกพรรษา หรืองานบุญต่าง ๆ ตามวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยชาวบ้านมักมีความเชื่อกันว่า การปล่อยโคมให้ล่องลอยไปบนอากาศนั้น เพื่อให้ ‘โคม’ ซึ่งเป็นเหมือนสื่อกลางในการพาเอาเคราะห์ร้ายภัยพิบัติ เรื่องราวที่ไม่ดี ต่าง ๆ ให้ลอยออกไปจาก
ภาคกลาง ที่จังหวัดอุทัยธานีจะมีประเพณีการตักบาตรเทโว พระภิกษุก็จะเดินลงมาจากวัดซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ณ วัดสะแกกรัง ลงมารับบิณฑบาตจากชาวบ้าน โดยขบวนพระภิกษุสงฆ์ที่ลงมาจากบันไดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูปนำหน้า ทำการสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้า จะใช้พระปางอุ้มบาตร ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตรหรือปางลีลา ตั้งไว้บนรถหรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาต จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาจากบันไดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันไดสวรรค์ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร
ภาคใต้ ประเพณีชักพระ ซึ่งภาษาถื่นทางภาคใต้จะเรียกว่า พิธีลากพระ ซึ่งมีด้วยกันถึง 2 แบบ คือ ชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ
การชักพระทางบก จะจัดขึ้นเป็นประจำสืบเนื่องกันมาตลอดหลัก ๆ อยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งก่อนหน้าวันชักพระ 2 วันจะมีพิธีการตักบาตรหน้าล้อนคือการใส่อาหารคาวหวานแล้ว ยังมีสิ่งที่สื่อแทนเป็นสัญลักษณ์ของงานทำบุญวันออกพรรษา นั่นก็คือ ‘ปัด’ โดยในภาคกลางมีชื่อเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน โดยก่อนหน้าที่จะถึงวันออกพรรษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ทางวัดจะทำเรือบก คือ การเอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ 2 ท่อนมาแกะสลักทำเป็นพญานาค 2 ตัว เพื่อเป็นแม่เรือที่มีการยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วจึงปูด้วยแผ่นไม้กระดาน วางบุษบก ก่อนจะนำพระพุทธรูปยืน ส่วนรอบบุษบกจะทำการวางเครื่องดนตรี ไว้เพื่อบรรเลงเวลาเคลื่อนขบวนพระไปยังบริเวณงานโดยรอบนั่นเอง
ครั้นพอถึงช่วงเช้าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะออกมาช่วยกันชักพระ โดยถือเชือกขนาดใหญ่ประมาณ 2 เส้นที่ได้ทำการผูกไว้กับพญานาคทั้ง 2 ตัว ซึ่งภายในบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นบ้านต่าง ๆ มากมาย 2.การชักพระทางน้ำ
การทำพิธีชักพระทางน้ำ ก็จะจัดขึ้นก่อนถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เช่นกัน โดยทางวัดที่อยู่ติดกับริมแม่น้ำ จะรับหน้าที่ในการตระเตรียมสิ่งของต่าง ๆ อย่างเช่นการนำเรือมาประมาณ 2-3 ลำ มาปูพื้นด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือมีการพนมพระก่อนจะประดับประดาด้วยธงทิว ภายในตัวของบุษบกก็จะทำการตั้งพระพุทธรูปในเรือ ซึ่งในบางครั้ง ก็จะมีเครื่องดนตรีคอยประโคมคลอไปตลอดทางที่เรือเคลื่อนตัวไปจนรอบสถานที่ที่กำหนด
ประโยชน์ของการทำบุณวันออกพรรษา
การทำบุญวันออกพรรษาจะเตือนสติว่าเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกพรรษาหนึ่งแล้วได้คร่าชีวิตมนุษย์ ให้ผู้คนนั้นดำรงอยู่ในความไม่ประมาทและหันมาสร้างกุศล
การทำบุญวันออกพรรษาจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นชำระความผิดของตนได้ คือหลักปวารณา ปกติคนเราคบกันนานๆ ก็จะเผย “สันดาน” ที่แท้ออกมา อาจจะไม่ดีนักแต่ตนเองไม่รู้ตัวแล้วมองไม่เห็น แต่ผู้อยู่ข้างๆ มองเห็นแต่ไม่กล้าเตือน ดังนั้นตนเองต้องปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้ ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นและยั่งยืน
การทำบุญวันออกพรรษทำให้เราได้ข้อคิดที่ว่า คนเราส่วนใหญ่มักจะลำเอียงเข้าข้างตนเองเป็นฝ่ายถูก ความผิดของคนอื่นเห็นง่ายส่วนตนเองนั้นความผิดนั้นเห็นยาก นี่แหละสัญชาตญาณของคนเรา
การทำบุญวันออกพรรษาเป็นการให้รู้ถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการเปิดใจซึ่งกันและกัน โดยไม่มีเล่ห์เหลี่ยมลับลมคมในใดๆ ต่อในการคบหาหรืออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
สำหรับในวันออกพรรษาปีนี้ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและเป็นโอกาสอันดี สำหรับการย้อนกลับมามองดูตัวเองว่าได้มีการทำสิ่งใดผิดพลาดไว้บ้าง เพื่อที่จะได้ทำการปรับปรุงแก้ไขและไม่ทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมอีกและมีถือโอกาส ทำบุญวันออกพรรษากับครอบครัวในวันหยุดเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและเป็นมงคลกับชีวิตครับ
ประวัติวันเข้าพรรษา ประเพณีเข้าพรรษา
ประวัติวันเข้าพรรษานั้นเริ่มต้นจากเมื่อสมัยพุทธกาลโดยพระพุทธเจ้าเป็นผู้กำหนดขึ้นเนื่องจากมีผู้มาเรียกเรียนว่า พระภิกษุสงฆ์เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยไม่หยุดหย่อนเลยแม้กระทั่งหน้าฝนที่ฝนตกหนัก และน้ำหลาก การเดินทางลำบาก กระทั้งบางครั้งพระสงฆ์เหล่านั้นยังเดินไปเหยียบย่ำพืชผัก หรือผลผลิตที่กำลังเติบโต และกำลังผลิดอกออกผล ได้รับความเสียหาย
ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้กำหนดให้ฤดูฝนเป็นฤดูสำหรับการหยุดพักการเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาของพระสงฆ์โดยกำหนดให้ตั้งแต่วันแรม 1ค่ำเดือน 8 เป็นวันเข้าพรรษา จนถึงวันขึ้น 15ค่ำเดือน 11และ เป็นวันออกพรรษา เพื่อพระสงฆ์จะได้หยุดพักจากการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และได้ปฏิบัติและศึกษาพระธรรมเพิ่มเติม และสั่งสอนลูกศิษย์หรือพระใหม่ที่เพิ่งบวชได้ร่ำเรียนธรรมะอย่างเต็มที่ โดยให้พระสงฆ์อยู่ประจำที่ไม่ไปจำวัดที่อื่นตลอดระยะเวลา 3เดือนที่เข้าพรรษานั้นแม้แต่คืนเดียว หากพระสงฆ์ไม่สามารถกลับมาทันก่อนรุ่งสางถือว่าภิกษุนั้นขาดพรรษา แต่มีข้อยกเว้นหากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถกลับมาได้ทัน แต่ต้องกลับมาภายใน 7วัน นั้นคือ
- ไปรักษาภิกษุหรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
- ไปห้ามไม่ให้ภิกษุสงฆ์นั้นสึกออกจาการเป็นพระสงฆ์
- ไปเพื่อธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปยารักษาโรคหรืออุปกรณ์ซ่อมแซมศาสนะสถาน
- ทายกนิมนต์ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขา
หากมีเหตุจำเป็นเหล่านี้พระสงฆ์สามารถกระทำ สัตตาหกรณียะ คือ ไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาหรืออาบัติแต่อย่างใด ซึ่งนอกจากจะห้ามดังกล่าวแล้วพระสงฆ์จะได้มีอากาศได้อบรม หรือเทศนาให้กับพุทธศาสนิกชนที่เข้าวัดทำบุญ ฟังธรรม และถือศีลปฏิบัติธรรมตลอดระยะเวลา 3เดือนที่เข้าพรรษา ซึ่งนั้นคือที่มาและประวัติวันเข้าพรรษาที่เราชาวพุทธต้องรู้และปฏิบัติ
และหากมีเหตุจำเป็นสุดวิสัยจริงๆที่ทำให้ไม่สามารถกลับมาทันได้ ก็ถือว่าไม่อาบัติหรือขาดพรรษาแต่อย่างใด ซึงได้แก่
- ถูกโจรปล้น ถูสัตว์ทำร้าย วิหารถูกไฟไหม้หรือน้ำท่วมจำเป็นต้องไปอยู่ที่อื่นก่อน
- ชาวบ้านถูกโจรปล้น จำเป็นต้องย้ายไปพร้อมกับชาวบ้านด้วย
- ขาดแคลนยารักษาโรค หรืออาหาร จำเป็นต้องออกไปบิณฑบาต
- มีผู้เอาทรัพย์มาล่อ อนุญาตให้หนีไปเสียให้พ้นได้
- ภิกษุสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามทำให้ภิกษุสงฆ์ในวัดแตกกัน ให้ไปเพื่อหาทางระงับได้
แต่เหตุเหล่านี้มีน้อย หรือไม่มีแล้วในปัจจุบัน และมีบางข้อเท่านั้นที่ยังมีให้เห็นได้ เช่น เหตุที่ขาดแคลนอาหารของพระสงฆ์ของวัดที่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน หรือผู้คน
ประเพณีลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย
ประเพณีลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย
ประเพณีไืทย – “พระราชพิธีจองเปรียง แห่งเมืองสุโขทัย เผาเทียน เล่นไฟ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง โคมลอยรูปดอกกระมุท ที่สุดของโคม แห่นางนพมาศ บูชาพระพุทธมหานัมมทาน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ประชาราษฎร์กล่าวขาน ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ร่วมแรงศรัทธาเผาเทียนบูชาพระรัตนตรัย สว่างไสวพร้อมกัน”
พระราชพิธีจองเปรียงมีมาแต่โบราณ ช่วงสมเด็จพระร่วงเจ้า จากหลักฐานในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้กล่าวถึงนางนพมาศว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระร่วงเจ้า พร้อมด้วยพระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายใน เสด็จลงประพาสลำน้ำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน เพื่อทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ นางนพมาศจึงได้ประดิษฐ์กระทงถวายเป็นรูปดอกกระมุทหรือรูปดอกบัว สมเด็จพระร่วงเจ้าพอพระทัยมาก จึงประกาศว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า กษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียง แล้วก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการบูชาพระพุทธมหานัมมทาน ตราบเท่ากัลปาวสาน”
นอกจากนี้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 บรรทัดที่ 14 ได้กล่าวถึงการเผาเทียนเล่นไฟว่า “…เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟเมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก…” ซึ่งข้อความใยศิลาจารึกตอนนี้ นายนิคม มุสิกคามะ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้เสนอให้จังหวัดจัดงานพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ประเพณีลอยกระทงขึ้นให้เป็นงานระดับชาติ โดยให้ชื่องานตามคำในศิลาจารึกว่า “งานเผาเทียน เล่นไฟ” เน้นการฟื้นฟูประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้ไฟชนิดต่างๆ โดยจังหวัดสุโขทัย ได้ร่วมกับกรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดงานลอยกระทง เผาเทียนเล่นไฟ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เรื่อยมา
ในงานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัยได้จัดให้มีพิธีเผาเทียนแบบโบราณ โดยเชิญชวนให้ประชาชนร่วมพิธีซื้อตะคัน เผาเทียนบูชาพระรัตนตรัยและเมื่อจุดแล้วก็ให้นำไปวางบนฐานหรือระเบียงโบสถ์วิหาร พระเจดีย์ โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และผ่ายในงานยังมีการแสดงแสง สี เสียง จำลองบรรยากาศงานเผาเทียนเล่นไฟสมัยสุโขทัย ให้ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ชื่นชมตลอดงาน
- วันเวลาการจัดงาน : วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หรือวันเพ็ญเดือน ๑๒
- สถานที่จัดงาน : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี
ประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี
“ลานกว้าง คือสนามประลองเจ้าแห่งความเร็วของเจ้าทุยเพื่อนรัก สัตว์เลี้ยงคู่ใจชาวนาไทยครั้งอดีต ที่ต่างวางคันไถ ออกจากท้องนาขึ้นมาช่วงชิงชัยชนะในสนามการแข่งขันวิ่งควาย ประเพณีที่สร้างความคึกคักเร้าใจ ได้ทุกช่วงวินาทีที่ผู้บังคับประสานเป็นหนึ่งกับเจ้าทุย ขับเคี่ยวกับคู่แข่งที่ขนาบทั้งซ้ายขวา มุ่งหน้าเข้าสู่เส้นชัย เพียงช่วงเวลาไม่กี่นาที”
ใกล้เข้าสู่เทศกาลออกพรรษา ผ่านพ้นช่วงการไถหว่านของชาวนาที่มีควายไทยเป็นแรงงานหลักในการไถแปลงนาให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูกข้าว เมื่อทำงานหนักเสร็จสิ้นก็ได้เวลาในการพัก แต่ระหว่างที่รอการเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงนี้เองที่ชาวนาจะได้มีโอกาสนำผลผลิตจากฤดูก่อนหน้ามาค้าขาย แลกเปลี่ยนกันในตลาด บางคนใช้ควายเป็นพาหนะขนของ ยางคนก็แต่งองค์ทรงเครื่องให้ควายของตนสวยงาม จนเมื่อเสร็จสิ้นการพบปะพูดคุย จึงชักชวนกันนำควายของตนมาวิ่งแข่งขันกัน จนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน
ประเพณีวิ่งควายจัดขึ้นทั่วไปตามชุมชนต่างๆ เริ่มตั้งแต่เขตเทศบาลเมืองชลบุรี จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ อำเภอบ้านบึง จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ตลาดหนองเขิน อำเภอบ้านบึง จัดขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดดอนกลาง ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จัดขึ้นในวันทอดกฐินประจำปีของวัด ซึ่งคุณสามารถเดินทางเข้ามาชมประเพณีนี้ได้ตามช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งแต่ละสถานที่ล้วนมากด้วยสีสัน รวมทั้งความตื่นเต้นในการลุ้นว่าใครที่จะเป็นเจ้าแห่งความเร็วของประเพณีวิ่งควาย
ในปัจจุบัน นอกจากชาวบ้านต่างเข้าชิงชัยในสนามแข่งขันประเพณีวิ่งควาย และประดับประดาควายของตนด้วยผ้า และแต่งแต้มสีสันสร้างลวดลายให้สวยงามแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างความสนุกสนาน และแฝงไปด้วยสาระ เริ่มต้นตรวจดูความแข็งแรงของควายในการประกวดสุขภาพ สร้างขวัญและกำลังใจแก่คนและควายในพิธีสู่ขวัญควายตามแบบพิธีกรรมดั้งเดิม อันเป็นการแสดงถึงความผูกพันระหว่างชาวนาและสัตว์เลี้ยงคู่ใจ ถึงแม้ความสำคัญของควายไทยจะลดบทบาทลงไปมาก แต่ชาวชลบุรีก็ยังสืบสานงานประเพณีวิ่งควายให้คงอยู่จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น หนึ่งเดียวในประเทศไทย
- วันเวลาการจัดงาน : ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือก่อนออกพรรษา ๑ วัน เรื่อยไป
- สถานที่จัดงาน : เทศบาลเมืองชลบุรี, ตลาดหนองเขิน อำเภอบ้านบึง, วัดดอนกลาง ตำบลแสนสุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น